สกว.โดยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก จับมือสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนาเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ อันจะก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ
พลเอกสมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ศาสตราจารย์ นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกระหว่างโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ณ โรงแรม ดี วารี ชาญวีร์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวว่า นับเป็นก้าวแรกของความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการร่วมกันผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านการวิจัยในระดับปริญญาเอกที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดย สทป. ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการและเป็นเจ้าของโครงการ รวมทั้งร่วมเป็นผู้พิจารณาหัวข้อวิจัยและสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ได้รับทุน คปก. ซึ่งทาง สทป.ยินดีที่จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่ปฏิบัติงานภายใน สทป. มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม อีกทั้งยินดีที่จะให้นักศึกษา คปก. ใช้สถานที่ วัสดุและอุปกรณ์ที่มีอยู่ รวมทั้งจัดสรรปัจจัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการวิจัยในระดับปริญญาเอก ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศร่วมกัน
ขณะที่ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คปก.มีส่วนสำคัญในการยกระดับงานวิจัยของชาติ สร้างนักวิจัย สร้างเครือข่ายการวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนเพิ่มความเข้มแข็งและความเป็นสากลของวงการวิจัยไทย สำหรับบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ 3 “คปก.เพื่อหน่วยงานของรัฐ” ในการสานพลังกับ สทป. ในการสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกที่มีประสิทธิภาพในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งของประเทศ ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทุนวิจัยที่มีมาตรฐานของ สกว. และความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตลอดจนองค์ความรู้จากนักวิจัยของ สทป. เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนาเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ อันจะก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ โดยใช้โจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อภารกิจและยุทธศาสตร์ของ สทป. ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพกำลังคนและพัฒนางานวิจัยในภาครัฐ ในการวิจัยในสาขาที่สอดคล้องและสร้างผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้ทันสมัย พึ่งพาตนเองได้ และหวังว่า คปก.จะสามารถขยายความร่วมมือลักษณะนี้ไปยังหน่วยงานวิจัยภาครัฐแห่งอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองคาพยพในระบบวิจัยของประเทศให้เติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ในการนี้ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันจัดสรรงบประมาณจำนวน 15 ทุน ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2564 โดย สกว.จะสนับสนุนงบประมาณแก่นักศึกษา คปก. รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท ขณะที่ สทป.จะสนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มเติมแก่ผู้ได้รับทุนในส่วนของค่าวิจัยเป็นเงินจำนวนตามหลักเกณฑ์ของ สทป.
ภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือได้มีการเสวนาหัวข้อ “คปก. ร่วมวิจัยกับกองทัพไทยเพื่อการพึ่งพาตนเอง” โดย พันเอก ดร.มนต์ชัย ดวงปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์ความรู้และการเผยแพร่ สทป. และศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ บุรีรัตน์ นักวิจัย สกว. จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้กล่าวถึงการวิจัยในโครงการ “การวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างเครื่องบินโดยใช้การเชื่อมต่อพลวัตของไหลและโครงสร้างเชิงคำนวณและการลดอันดับของแบบจำลอง” รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาบุคคลากรร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานที่มีส่วนช่วยพัฒนางานวิจัยให้กับ สทป. การปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายของชาติและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งมหาวิทยาลัยและองค์กรภาครัฐ ตลอดจนทิศทางงานวิจัยที่มีความจาเป็นหรือเหมาะสมต่อการพัฒนากองทัพไทย
ในโอกาสนี้ คปก.ได้นำผลงานวิจัยโครงการ “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานสังเคราะห์จากปาล์มน้ำมัน” ซึ่งมี รศ. ดร.ผกาวดี แก้วกันเนตร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหัวหน้าโครงการ มาจัดแสดงนิทรรศการร่วมกับ สทป. ด้วย โดยโครงการนี้ได้ใช้กระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า ไฮโดรโพรเซสซิ่ง ซึ่งมีวัตถุดิบตั้งต้นหลักในการผลิตเป็นน้ำมันปาล์ม แก๊สไฮโดรเจนและตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูง ภายในระบบถังปฏิกรณ์ชนิดทนแรงดันสูง ทำให้สามารถผลิตน้ำมันอากาศยานได้ภายในระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง และมีคุณภาพได้ตามมาตรฐานการบินสากล อีกทั้งเป็นพลังงานที่สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันอากาศยานที่กลั่นได้จากปิโตรเลียมได้ นวัตกรรมที่ได้จากโครงการนี้ ได้แก่ ระบบการผลิตน้ำมันอากาศยานต้นแบบ (ถังปฏิกรณ์ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกรเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ที่มีกำลังการผลิต 50 ลิตร/รอบการทำงาน กรรมวิธีการผลิตที่ให้ผลได้น้ำมันสูง และคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้ตามมาตรฐานการบินสากล ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปิโตรเลียมหรือเมื่อเกิดความผันผวนด้านพลังงานในตลาดโลก การผลิตเพื่อเป็นพลังงานสำรองสำหรับอากาศยานที่ปัจจุบันสั่งซื้อจากการกลั่นแยกจากน้ำมันปิโตรเลียมแต่เพียงอย่างเดียว ตลอดจนเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยสามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันอากาศยานที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม ในราคาที่ถูกกว่า