จากคราวที่แล้วเราว่ามันไปถึงเรื่องปืนไฟไปแล้ว คราวนี้ก็มาพูดกันถึงเรื่อง “ธนูไทย” ที่หลายๆท่านสงสัยกันบ้าง
โดยหลักฐานเรื่องธนูไทยมีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร , วรรณคดีลิลิต , และในตำราพิชัยสงครามก็มาก หรือแม้แต่ปรากฏหลักฐานอยู่ในงานจิตรกรรมฝาผนัง โดยตรงเลยก็มี เพียงแต่ว่าจารีตการยิงธนูของไทยไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดเหมือนในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกกลาง จึงทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับการยิงธนูของไทยไม่เป็นที่รู้จักในทุกวันนี้

ปืนซึ่งสมัยร้อยถึงสองร้อยกว่าปีก่อนนั้นคือธนู น่าจะมีหน้าตาแบบนี้นะครับ
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงอาวุธยิงอย่างปืนไฟไปแล้ว แต่ถ้าไม่เล่าเรื่องอาวุธยิงสำคัญอย่าง “ธนู” ก็คงจะไม่ครบเครื่องเรื่องอาวุธยิงเป็นแน่ทีเดียว แต่ไอ้ประเด็นสำคัญของเรื่องธนูไทยในยุคจารีตนั้นก็มีอยู่ว่า ตกลงธนูของเรามันหน้าตายังไงกันแน่?
คำตอบคือธนูของเราก็หน้าตาแบบธนูยาวปลายโค้ง (Recurve Longbow) อย่างที่เห็นในภาพถ่ายพระแสงอัษฎาวุธใช่หรือไม่ แล้วเจ้า”เกาทัณฑ์” นี่ล่ะ?..เพราะที่ผ่านมาเรามักคิดว่า “ธนู” กับ “เกาทัณฑ์” คืออาวุธยิงเหมือนกันๆ หรือกล่าวคือ เกาทัณฑ์เป็นเพียงศัพท์แสงคำหนึ่งของธนูเท่านั้น
ในตำราพิชัยสงคราม และพระราชพงศาวดารกลับยืนยันว่า แม้ธนูและเกาทัณฑ์จะเป็นอาวุธยิงเหมือนกัน แต่กลับมีการแบ่งแยกอาวุธทั้งสองชนิดนี้ออกอย่างชัดเจน อย่างในหนังสือตำราพิไชยสงครามที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้บรรยายเอาถึงกลยุทธกองอาวุธยิงไว้ว่า
“หัวน่านายยืนยัน แกว่งเกาทันฉันใด หัวน่าใช้ยิ่งขยันแกว่งเกาทันพาดศร ทรงปืนกรฝืนผก ย้ายยกกลผ่อนผัน เปนกลกันย่อมกล เพื่อรานรณเรวรวด ยอดยิ่งบ่หย่อนใจฯ
“น่าไม้ยั้งยืนไฉน น่าไม้ขึ้นน่าต่อ ต้านปืนรอยืนรับ กลปืนสรัพที่รู้ เปนกลดูยอมกล หลบหลีกซนแนบไม้ ชิดช่องไซ้ส่องจู่ รู้ฬ่อด้วยศรศิลปฯ
“ธนูก่งน่าวพาด สายศรสาตรฉันใด ธนูไว้ก่งสาย น้าวพาดกรายศรสิทธิ์ ลูกยาพิศม์ (ยาพิษ – ผู้เขียน) ผลาญแผลง ดูขันแขงเรวรวด เปนกลยวดเปลื้องไปล่ ว่องแว่นไว้เชิงสู้ รอบรู้ต่อเชิงกลฯ”
ส่วนในลิลิตตะเลงพ่าย อันเป็นวรรณคดีที่เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศฯในศึกยุทธหัตถีก็บรรยายถึงความเกรียงไกรของกองทัพกรุงศรีอยุธยาว่า
“ดูพลโล่ห์สพรั่ง ดูพลดั้งสพาย ดาสพดาบเพียงเพ็น ดาสพลเขนเพียงพรุ พลธนูเนืองนันท์ พลกุทัณฑ์ (เกาทัณฑ์ – ผู้เขียน) เนืองนับ กับพลหอกหันน้าว กับพลง้าวเงื้องาม ทหารทวยทวนทองปลั่ง หลั่งทวยธวัชบัดปลิว”
ส่วนในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จฯเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ก็ได้อธิบายภาพขบวนแห่ของกองทหารองครักษ์ว่า “กรมทำลุ (ทหารอาสา – ผู้เขียน) ถือธนูหางไก่” และ “กรมม้าขุนหมื่นถือเกาทัณฑ์” จากนั้นก็ “ทหารม้าทหารหน้าถือดาบคาดสายกระบี่หนังขาว มีปืนประจำหลังม้า ถ้าเป็นม้าฮ่อ (ทหารม้าจีนมุสลิม – ผู้เขียน) ถือเกาทัณฑ์”
ดังความในเอกสารต่างๆล้วนแสดงให้เห็นว่า ในความรับรู้ของคนในสมัยนั้นมีการแยกแยะระหว่างธนู หน้าไม้ และเกาทัณฑ์อย่างชัดเจนแล้ว มิได้มีการปะปนอย่างที่คนรุ่นหลังเข้าใจกันแต่อย่างใด
ธนูและเกาทัณฑ์มีความแตกต่างกันอย่างไรนี่ล่ะที่สำคัญ? เพราะหากเทียบดูจากในเครื่องพระแสงอัษฎาวุธแห่งราชวงศ์จักรี จะเห็นได้ว่าพระแสงธนูก็คือ ธนูพื้นเมืองธรรมดาลักษณะเป็นธนูยาวปลายโค้งที่ทำจากไม้ไผ่ชิ้นเดียวเป็น “ธนูเนื้อล้วน” (Selfbow) หรืออาจจะเป็น “ธนูไม้ประกบ” (Laminated bow) ก็ได้ เคยมีรายงานการพบเห็นธนูโบราณที่สร้างด้วยวิธีการประกบไม้อย่างธนูญี่ปุ่นหรือธนูยาวจีนด้วยเช่นกัน
ถ้าเช่นนั้น เกาทัณฑ์ก็ต้องเป็นอาวุธยิงที่มีลักษณะพิเศษแยกย่อยออกไปจากธนู ซึ่งเมื่อหากเราเทียบดูจากงานจิตรกรรมตู้ลายรดน้ำหรือแม้แต่จิตรกรรมฝาผนังในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว เราจะพบภาพของกองทหารอาสาหรือแม้แต่แม่ทัพนายกองในภาพใช้ธนูสั้นแต่มีการน้าวลึกแบบธนูอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเราเข้าใจได้ในทันทีว่าเกาทัณฑ์ก็คือธนูวัสดุผสม (Composite bow) นั้นเอง

สำหรับธนูวัสดุผสมนี้ถือว่าเป็นธนูชั้นสูงที่นิยมใช้กันมากในซีกโลกเหนือ ซึ่งธนูชนิดนี้มีความพิเศษจากธนูธรรมดาตรงที่ใช้วัสดุหลายชนิดรวมกันคือไม้ เอ็นสัตว์ และเขาสัตว์มาประกบรวมกันจนเกิดเป็นธนูที่มีความยืดหยุ่นสูงและยิงได้แรงและไกลกว่าธนูปกติทั่วไปด้วย แต่แม้ว่าในเวลานี้เราจะไม่พบหลักฐานที่เป็นหลักฐานวัตถุที่ชัดเจนของเกาทัณฑ์หรือธนูวัสดุผสมในบ้านเรา แต่จากหลักฐานด้านเอกสารและงานจิตรกรรมต่างๆที่ได้กล่าวมานั้นก็แสดงให้เห็นว่า มีการใช้ธนูที่มีรูปร่างแตกต่างไปจากธนูพื้นเมืองในหมู่กองทหารอาสาด้วย จึงทำให้เชื่อได้ว่าเกาทัณฑ์เป็นธนูวัสดุผสมที่สั่งนำเข้ามาเป็นการเฉพาะพร้อมกับกองทหารอาสาต่างชาติอย่างเช่นกองทหารอาสาจีนและแขกมุสลิมที่ได้ชื่อเป็นชนชาติที่ชำนาญการยิงธนูอยู่แล้วนั้นเอง
เพราะฉะนั้น หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะหายคาใจเรื่องรูปทรงธนูไทยแท้กันได้บ้างแล้ว และคงจะได้เข้าใจกันว่าธนูกับเกาทัณฑ์จึงเป็นธนูคนละชนิดกันอย่างมิต้องสงสัยแน่นอน
เรื่องโดย..ภาสพันธ์ ปานสีดา