“เฉลิมชัย” ยกนิ้วผลงานกรมหม่อนไหม มอบเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทานแล้วกว่าล้านเมตร ด้านรองอธิบดีกรมหม่อนไหมชี้ เกษตรกรผู้ผลิตไหมตื่นตัวขอตราเพื่อการันตรีช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าพร้อมเร่งช่วยเปิดตลาดเพิ่ม
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพี่อให้การผลิตผ้าไหมของเกษตรกรมีคุณภาพได้มาตรฐานตั้งแต่กระบวนการผลิต รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่กรมหม่อนไหมเพื่อยกระดับการให้เข้าสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย คือ โครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานตามข้อบังคับกรมหม่อนไหม โดยเครื่องหมายรับรองนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยเป็นเครื่องหมายรับรอง จำนวน 4 ชนิด ประกอบด้วย นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk ) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) และนกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend)
“ สำหรับผลกการดำเนินงานของกรมหม่อนไหมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สามารถสนองงานตามพระราชดำริตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ส่งเสริมงานหม่อนไหมให้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตให้มีความหลากหลายทั้งสีสันและลวดลายการทอ และการรับรองมาตรฐานเครื่องหมายนกยูงถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยปัจจุบันสามารถตรวจสอบมาตรฐานการผลิตตรานกยูงพระราชทานทั้ง 4 ชนิดให้เกษตรกรผู้ทอผ้าไหม รวมแล้วกว่า 1 ล้านเมตร โดยแบ่งเป็น เครื่องหมายนกยูงสีน้ำเงิน ประมาณ 900,000 เมตร และที่เหลือเป็นเครื่องหมายนกยูงสีทอง สีเงิน และสีเขียว อีกประมาณ 100,000 เมตร” ดร.เฉลิมชัยกล่าว
ด้าน นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ตามข้อบังคับกรมหม่อนไหม ที่ดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 เน้นดำเนินการในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทั้ง 6 เขตทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายดำเนินการในเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเฉพาะรายใหม่ จำนวน 705 ราย
“การดำเนินการนั้นจะเน้นการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการผลิตผ้าไหมพระราชาทานและการฟอกย้อมสีเคมีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสีธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการติดตามและให้คำแนะนำแก่เกษตรอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งจากผลการดำเนินการที่ผ่านมานั้นได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถพัฒนาเกษตรกรทั้งรายเดี่ยวและแบบกลุ่ม จนเกิดการยกระดับการผลิตได้เป็นอย่างดี ดั่งเช่น หมู่บ้านอนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่น ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ซึ่งศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ได้เข้ามาดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาจนสามารถยกระดับการผลิตผ้าจนได้มาตรฐานเครื่องหมายรับรองนกยูงสีน้ำเงินถึง 9 กลุ่ม จากจำนวนกลุ่มทั้งหมด 10กลุ่ม
รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากการยกระดับมาตรฐานการผลิตผ้าไหมให้ได้มาตรฐานแล้ว กรมหม่อนไหมยังได้มีการต่อยอดด้านการตลาดให้เกษตรกร ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ทำงานร่วมแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน อันนำไปสู่เพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกร” รองอธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว
ด้านนายสุริยัน ศรีเดช ประธานกลุ่มทอผ้าลาวเวียง บ้านหนองระกำ ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม กล่าวว่า การเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตผ้าไหม จนได้รับรองมาตรฐานเครื่องหมายนกยูงสีน้ำเงินได้ส่งผลดีกับการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก จนสร้างความความพึ่งพอใจให้กับลูกค้าเป็นอย่างสูง โดยดูได้จากการเสียงตอบรับของลูกค้าและการสั่งซื้อผ้าไหมในการไปออกร้านตามสถานที่ต่างๆ จะขายได้ดีสร้างรายได้เฉลี่ยให้กับกลุ่มผู้ผู้ทอผ้า ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อกลุ่มต่องาน
“ ตอนนี้เกษตรกรเราเองมีความเข้าใจและตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพการผลิตผ้าไหมเป็นอย่างมากซึ่งการที่กรมหม่อนไหมเข้าช่วยเหลือส่งเสริมและพัฒนาตามโครงการฯดังกล่าว ถือว่าดีต่อเกษตรกรผู้ทอผ้าไหมเป็นอย่างมาก รวมถึงยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อที่วันนี้จะถามก่อนซื้อว่า มีเครื่องตรานกยูงหรือไม่”นายสุริยัน กล่าวในที่สุด