ทำไมถือศีลแล้วต้องกินเจ และเจกับมังสาวิรัติต่างกันอย่างไร?
ถ้าจะพูดถึงหนึ่งในเทศกาลทางศาสนาตามคติความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนแล้ว นอกจากวันตรุษจีนที่จะเป็นวันได้อั่งเปาซองงามๆ และวันสารทจีนที่จะกินเครื่องไหว้แบบมหาศาลบานเตแล้ว ก็คือช่วง “เทศกาลกินเจ” นี่ล่ะครับ และด้วยความที่คนไทยเชื้อสายจีนจัดเป็นกลุ่มพลเมืองที่มีจำนวนมากที่สุด เพราะผมเชื่อว่าแทบทุกจังหวัดและโดยเฉพาะจังหวัดสำคัญๆจะต้องมีชุมชนชาวจีนตั้่งอยู่ด้วยแล้ว จึงทำให้บรรดาเทศกาลต่างๆของชาวจีนและโดยเฉพาะกินเจกลายมาเป็นเทศกาลสำคัญประจำชาติของเราไปอย่างกลายๆด้วยเช่นกัน และด้วยการมาถึงของเทศกาลกินเจนี้ก็ยังถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะนอกจากเทศกาลกินเจจะเป็นการส่งผลในด้านธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงศาสนาอย่างการทัวร์ทำบุญตามวัดหรือศาลเจ้าเก่าแก่ต่างๆแล้ว ก็ยังตามมาด้วยธุรกิจอาหารเจที่ทำให้ชาวไทยบางกลุ่มหันมาเอาดีทางธุรกิจนี้อยู่ชั่วเวลาหนึ่งเพื่อเกาะกระแสบุญใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายจีนไปด้วย แต่ถ้าถามว่าจะมีจังหวัดใดที่ให้ความสำคัญกับประเพณีกินเจอย่างเป็นกรณีพิเศษแล้ว ก็คงจะมิพ้น จ.ภูเก็ตที่ถือว่าเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญประจำจังหวัดกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าประเพณีกินเจนี้มาจากแผ่นดินจีน แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่กลับไม่ค่อยรู้จักประเพณีกินเจนี้เสียเท่าไหร่ แต่ทำไมคนไทยเชื้อสายจีนกลับมีประเพณีหรือเทศกาลกินเจขึ้นมาได้ เราก็ต้องไปทำความเข้าใจถึงรากของความเชื่อที่กลายมาเป็นเทศกาลกินเจก่อนว่าเทศกาลนี้มิได้เป็นเทศกาลความเชื่อหลักของชาวจีนฮั่นทั้งหมดมาแต่เดิมหรอกครับ หากแต่เป็นประเพณีหรือความเชื่อจำเพาะถิ่นต่างหาก ซึ่งจุดเริ่มต้นของประเพณีนี้มาจากกลุ่มชาวจีนแดนใต้ในเขตมณฑลเจ้าโจว (潮州) หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า “แต้จิ๋ว” และชาวจีนแห่งฝูเจี้ยน (福建省) หรือ “ฮกเกี้ยน” นั่นเอง โดยชาวจีนแดนใต้ทั้งสองกลุ่มได้หลอมรวมความเชื่อใน เข้ากับศาสนาเต้าหรือเต๋าในแบบท้องถิ่นที่มีความเชื่อในเรื่อง “ดาวกระบวยเหนือ” ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าผู้มีนามว่า “เป่ยเต้าซิงจวิน” (北斗星君) หรือที่เรียกในสำเนียงแดนใต้ว่า “ปักเต้าแชกุง” รวมกับ “หนานเฉินเพ่ยเต่า” (南辰北斗)”หน่ำซิ้งปักเต้า” ผู้มีสัญลักษณ์เป็น “ดาวกระบวยใต้” โดยกลุ่มดาวทั้งสองนี้ในทางดาราศาสตร์รู้จักกลุ่มดาวทั้งสองนี้ในนาม “กลุ่มดาวหมีใหญ่” (Ursa Major) และ “กลุ่มดาวหมีเล็ก” (Ursa Minor) ส่วนคนไทยรู้จักกลุ่มดาวนี้ในนาม “กลุ่มดาวจระเข้”ตามคติอินเดียนั่นเอง โดยชาวจีนจึงมีความเชื่อว่ากลุ่มดาวทั้งสองกลุ่มเป็นผู้ควบคุมกาลเวลาทั้งหมด หรือกล่าวได้ว่าเป็นเทพผู้กำหนดดวงชะตาของมนุษย์ โดยเทพหนานเฉิน/หน่ำซิ้งจะเป็นผู้ควบคุมการเกิดของมนุษย์ ในขณะที่เทพเป่ยเต้า/ปักเต้าจะเป็นผู้ควบคุมการตายของมนุษย์ และดวงดาวทั้งสองนี้จะมาโคจรบรรจบกันในช่วงเดือนเก้าตามแบบจันทรคติของจีนนั่นเอง
ส่วนในด้านความเชื่อแบบพุทธมหายานนั้น นอกจากจะมีศีลหรือหลักปฏิบัติเรื่องการห้ามกินเนื้อปลาและสัตว์ทั้งหลายอยู่ก่อนแล้ว แต่ชาวจีนยังถือว่าช่วงเดือนนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติของ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยปนะภาพุทธเจ้า” ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งในคติมหายาน และ “พระมริจีเทวีพุทธมารดา” อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน และในเมื่อทั้งสองความเชื่อต่างมีห้วงเวลาที่มาบรรจบกันในช่วงเดือนเก้าหรือเดือนตุลาคมนี้เอง จึงทำให้ชาวจีนผู้นับถือศาสนาเต้าและพุทธมหายานต่างร่วมกันการสักการะต่อทั้งเทพเจ้าและพระพุทธโพธิสัตว์ไปพร้อมๆกัน ด้วยการจัดโต๊ะหมู่บูชาไปพร้อมกับการถือศีลชำระกายและใจให้บริสุทธิ์ด้วยการละเว้นในการเข่นฆ่าสรรพชีวิตหรืองดเว้นการทานเนื้อสัตว์ไปโดยพร้อมกัน และชุดความเชื่อนี้ก็แพร่หลายมายังแผ่นดินไทยพร้อมกับกลุ่มชาวจีนอพยพหรือกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะกลุ่มชาวแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นการถือศีลกินเจในกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลยุคแรกนั้นก็มิได้มีความเอิกเกริกอะไรมากมายนัก เพราะด้วยความที่ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนต่างมีความเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มกองกำลังอั้งยี่ที่ถือว่าเป็นพวกนอกกฎหมายอยู่ด้วย จึงทำให้ประเพณีการถือศีลกินเจในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลยังอยู่ในวงแคบ แต่เมื่อกระแสโจรอั้งยี่เริ่มหมดไปและชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มขยายกิจการไปพร้อมกับฐานะทางสังคมแล้ว จึงทำให้พวกเขานำประเพณีกินเจนี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างจริงจังเมื่อราวๆ 30 ปีที่ผ่านมานี้ จนกระทั่งกลายมาเป็นประเพณีที่สร้างรายได้ให้กับภาครัฐและเอกชนอย่างเปิดเผยเฉกเช่นในทุกวันนี้นี่ล่ะครับ
หากแต่ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผมก็ได้นำเกร็ดความรู้เรื่องข้อแตกต่างระหว่างการกินเจและการทานมังสาวิรัติมาเสริมให้ซักหน่อย เพราะผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆท่าน (และรวมถึงผม) ก็นึกสงสัยว่าการกินเจกับการทานมังสาวิรัติมันแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งผมได้ข้อสรุปมาดังนี้ว่า
1. ผู้ที่กินเจสามารถรับประทานผักทุกชนิดได้ ยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ได้แก่ หอม กระเทียม กุยช่าย กระเทียมเล็ก ผักชี เพราะถือว่าเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทำให้ธาตุภายในร่างกายแปรปรวนได้ ส่วนผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถรับประทานพืชผักทุกชนิดได้
2. ผู้ที่กินเจไม่สามารถดื่มน้ำนมสดหรือนมข้น เพราะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ ส่วนผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติจะดื่มน้ำนมสดหรือนมข้นได้ เพราะไม่ได้ถือว่าฆ่าสัตว์นั้นๆมารับประทาน
3. ผู้ที่กินเจรับประทานไข่ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการรับประทานเนื้อสัตว์โดยอ้อม ส่วนผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถรับประทานไข่ได้ เพราะถือว่าไข่ที่บริโภคกันอยู่ทั่วไปเป็นไข่ที่ไม่มีเชื้อหรือยังไม่มีชีวิตขึ้นมาเป็นสัตว์จริงๆ
4. นอกจากการละเว้นอาหารต้องห้ามทั้งหลายแล้ว ผู้ที่ถือศีลกินเจยังต้องถือศีลอุโบสถหรือศีล 8 ควบคู่กันไปด้วย ส่วนผู้ทานมังสาวิรัตินั้นถือเป็นเรื่องปัจเจกชน มิใช่เรื่องทางศาสนาแต่อย่างใดครับ
เรื่องราวมันก็เป็นฉะนี้แลครับ
เรื่องโดย..ภาสพันธ์ ปานสีดา
ภาพจาก..อินเตอร์เน็ต