จี้ภาครัฐหยุดละลายงบ1.5หมื่นล้านบาท!!! ภาคีเกษตรกรรุมค้านย้ำแจกแล้วเจ็บแถมไม่จบ

“การนำเอาเม็ดเงินดังกล่าวมาใช้พัฒนาศักยภาพของเกษตรส่วนรวมจึงน่าจะเป็นประโยชน์ และเห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่าการแจกจ่ายไปตามครัวเรือน  รวมทั้งยังตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง เป็นการยื่นเบ็ดตกปลามากกว่าการยื่นปลาให้กับประชาชน”

Advertisement

การเกษตรของประเทศไทยจะพัฒนาได้ ต้องเกิดจากภายใน หรือเกิดจากความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาศักภาพของตัวเองโดยเกษตรกร นำไปสู่การก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ เป็นวิสาหกิจชุมชน ไปจนถึงการเป็นชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับขีดความสามารถในด้านต่างๆ และยกระดับคุณภาพชีวิตนำไปสู่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน ของภาคการเกษตรไทย อย่างยั่งยืน ภายใต้การส่งเสริมพัฒนาของภาครัฐ

นั่นเป็นที่มาและแนวคิดของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการผ่าน ภาคีเครือข่ายเกษตรกร ในส่วนของศูนย์ข้าวชุมชนแห่งประเทศไทย และสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก รวมถึงตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งตัวแทนเกษตรกรจากหลายจังหวัด และ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ที่รวมตัวกันสร้างรากฐานภาคการเกษตรเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะเม็ดเงินจากโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่จะลงมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ทุกฝ่ายบรรลุภาระกิจการยกระดับศักยภาพเกษตรกร และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนภาคการเกษตรไทย ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้

โครงการต่างๆ ที่ผุดขึ้นโดยกรมการข้าว นั้น สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก และเกษตรกรจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศมีความเห็นว่า ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรและชุมชนในภาพรวม นำพาเกษตรไทยก้าวไปสู่จุดหมายด้วยความมั่นคง ยั่งยืน

“ดร.ภณ ทัพพินท์กร” นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก กล่าวถึงโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภายใต้เม็ดเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ในโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่า “ทางสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายเกษตรกร มีแนวคิดของการพัฒนาศักยภาพและสร้างอาชีพเกษตรยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ร่วมกับกรมการข้าว ผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทย ภายใต้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากทางภาครัฐ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี และผลิตที่ดีมีคุณภาพ โครงการโรงสีพลังงานอัจฉริยะ เป็นการส่งเสริมให้ศูนย์ข้าวชุมชนฯ สามารถสีข้าวเองได้ผ่านพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด  ประหยัด ปลอดภัย ลดโลกร้อนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก

โครงการถัดมาเป็นข้าวรักษ์โลก หรือ BCG โมเดล ที่เป็นการส่งเสริมครบวงจรโดยใช้การตลาดนำการผลิตคือ ต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำ ด้วยการใช้ชีวมวลชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีสารเคมียาฆ่าแมลงยาฆ่าหญ้า ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการลดต้นทุน ทำให้ได้ข้าวดีมีคุณภาพปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลงไปขับเคลื่อนสร้างรากฐานให้เกิดความยั่งยืนในการทำการเกษตร รวมถึงโครงการยุ้งฉางข้าว ซึ่งเป็นการทำร่วมกับกรมการข้าวในการเข้ามามีบทบาทรับซื้อข้าวตรงจากเกษตรกร เป็นยุ้งฉางแบบ SRP มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผลิตข้าวคุณภาพ และขายได้ราคา ซึ่งเป็นการเพิ่มดีมานด์ซัพพลายเข้าไปในระบบโดยโครงการทั้งหมดนี้ก็จะมีเม็ดเงินจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรและชุมชน” ดร.ภณ กล่าว

โครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นผ่าน ศูนย์ข้าวชุมชนแห่งประเทศไทย วิสาหกิจชุมชน นาแปลงใหญ่ กองทุนหมู่บ้านและเกษตรกรจากภาคีเครือข่าย เป็นความร่วมมือจากภาคประชาชน เกษตรกร และองค์กรชุมชนต่างๆ  ที่รอเม็ดเงินที่จะลงมาสนับสนุนจากทางภาครัฐ

แต่กลับเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อเม็ดเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่าน สำนักงบประมาณลงมายังกรมการข้าว กำลังถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์!!!

แทนที่จากการนำเงินมาสนับสนุนโครงการต่างๆ ตามที่ทาง สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก และเกษตรกรจากภาคีเครือข่าย ได้วางแผนการดำเนินการร่วมกับกรมการข้าวไว้แล้วก่อนหน้านี้ กลับกำลังจะถูกนำเอาเม็ดเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทไปแจกโดยตรงให้กับเกษตรกร

ซึ่งกลายมาเป็นคำถามสำคัญเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของเม็ดเงินดังกล่าว ที่ควรจะถุกนำมาใช้เพื่อพัฒนายกระดับเกษตรในภาพรวม ในรูปแบบของส่วนรวมมากกว่า การละลายเม็ดเงินไปกับการจ่ายตรงไปในแบบการแจกให้เป็นส่วนบุคคล …

เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเกิดความเคลื่อนไหวในส่วนของ  สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก และเกษตรกรจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ที่จะคัดค้านและต้องการให้ภาครัฐทบทวนเกี่ยวกับการใช้เม็ดเงินดังกล่าว โดยมีการยื่นหนังสือผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงสำนักงบประมาณต้นทางแห่งการอนุมัติเม็ดเงิน

นายภาคิณ มุสิกสุวรรณ นายกสมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) พร้อมด้วยคณะกรรมการกลาง ศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ มีความประสงค์ที่จะแสดงความคิดเห็น ต่องบประมาณที่สำนักงบประมาณ ได้มีหนังสือถึงกรมการข้าว ให้อธิบดีกรมการข้าวนำงบประมาณจำนวน 15,000 ล้าน จ่ายตรงให้กับพี่น้องเกษตรกร ที่ขึ้นบัญชีรายชื่อกับกรมส่งเสริมการเกษตร ครัวเรือนละ 3,500 บาทนั้น ทางสมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) เห็นว่า งบประมาณดังกล่าวไม่ได้มีจุดประสงค์ ที่จะดำเนินการตามสำนักงบประมาณทำหนังสือมาถึงกรมการข้าว เนื่องจากกรมการข้าวไม่ได้มีหน้าที่หลักในการนำเงินมาจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกรแบบข้างต้น โดยหน้าที่หลักของกรมการข้าว คือสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนาให้กับศูนย์ข้าวชุมชน วิสาหกิจชุมชน นาแปลงใหญ่ หรือหน่วยรับอย่างกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้พัฒนาตนเอง ได้พึ่งพาตนเอง ผ่านการสนับสนุนนวัตกรรม เทคโนโลยีเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อที่จะนำไปพัฒนาการเพาะปลูกให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไป อย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ วันนี้เพื่อที่จะแจ้งให้กับทางสำนักงบประมาณทราบว่า “พวกเราไม่เห็นด้วย” และขอให้ทบทวนอีกครั้ง

นายภาคิณ มุสิกสุวรรณ นายกสมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย)

ด้านนายกฤตมาส นนท์งาม ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า “วันนี้เกษตรกรอยากให้เกิดการต่อยอด การพัฒนาอาชีพการทำการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ อย่างยั่งยืน และอยากให้เม็ดเงินที่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐผ่านโครงการดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ ตรงกับความต้องการของเกษตรกรเช่น ความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้องการโรงสีชุมชน โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model โครงการ Silo หรือ เครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ส่วนคือสิ่งที่เกษตรกรต้องการและเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคีเครือข่ายและเกษตรกรสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีโครงการชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านกระทรวงพาณิชย์ไร่ละ 1 พันบาทอยู่แล้ว ส่วนเม็ดเงินจากโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นั้นน่าจะถูกนำไปพัฒนาในส่วนของภาพรวมมากกว่า” …ตัวแทนเกษตรกรกล่าว

นายกฤตมาส นนท์งาม ตัวแทนเกษตรกร

ส่วนนายสานิตย์ จิตต์นุพงษ์ ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเกษตรกรในภาคกลางกว่า 50 % นั้น ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ทำการเช้าที่ดินทำกินจากนายทุน การได้รับเงินช่วยเหลือในส่วนโครงการนี้ ประกันรายได้ และหรือการแจกเงินจ่ายตรงแบบนี้เป็นประโยชน์กับนายทุนมากกว่าตัวเกษตรกรเอง เนื่องจากนายทุนมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรอรับเงินช่วยเหลือดังกล่าว ดังนั้นการนำเอาเม็ดเงินดังกล่าวมาใช้พัฒนาศักยภาพของเกษตรส่วนรวมจึงน่าจะเป็นประโยชน์ และเห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่าการแจกจ่ายไปตามครัวเรือน  รวมทั้งยังตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง เป็นการยื่นเบ็ดตกปลามากกว่าการยื่นปลาให้กับประชาชน”

นายสานิตย์ จิตต์นุพงษ์ ตัวแทนเกษตรกร

เม็ดเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทจากโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ควรจะลงไปขับเคลื่อนการพัฒนาเพิ่มศักยภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ที่จะเป็นกุญแจสำคัญยกระดับอาชีพ และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและชุมชน เป็นอีกหนึ่งในความหวังของเกษตรกรไทย ที่วันนี้ไม่เพียงแต่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำเอาเม็ดเงินดังกล่าวมาละลายด้วยการ “แจก” แล้ว

แต่ยังขัดต่อแนวคิดที่เป็นฉันทามติร่วมกันในการจะพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเป็นแนวทางผ่านการบูรณาการร่วมกันของภาคีเครือข่ายรวมถึงหน่วยงานภาครัฐมาจนเป็นแผนที่ชัดเจน

และจะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากภาครัฐยังคงดื้อดึงที่จะนำเม็ดเงินดังกล่าวมาแจกเพื่อเป็นประโยชน์เฉพาะบุคคลและครัวเรือน แทนที่จะเห็นความสำคัญของการนำเอาเม็ดเงินดังกล่าวไป พัฒนา และสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ให้กับเกษตรกรในภาพรวม

นอกจากจะเป็นการละลายเงินไปกับสายน้ำแล้ว ยังละลายทำลายความใฝ่ฝันที่จะพัฒนายกระดับศักยภาพของเกษตรกรไทย เป็นฝันร้ายหักดิบแนวคิดการสร้างความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพเกษตรกร ขัดกับการพัฒนาเดินหน้าไปสู่อนาคตของภาคเกษตรไทยอย่างร้ายแรง

 

กองบรรณาธิการ SBN