ประเทศไทยที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ดีทีสุด และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติถึงคุณภาพของข้าวไทย ที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดในระดับสากล กลายเป็นรายได้หลักให้กับประเทศมาต่อเนื่องยาวนาน
แต่จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งปัจจัยผลกระทบภายในประเทศ และผลกระทบจากนอกประเทศ ส่งผลต่อตลาดข้าวของไทย โดยเฉพาะปัจจัยภายในประเทศเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล “โดยเฉพาะนโยบายด้านข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา” ที่มีผลโดยตรงต่อการปลูกข้าวของเกษตรกร และกระบวนการผลิตข้าวของไทย พังทั้งระบบส่งผลโดยตรงทำให้ข้าวไทยที่เคยยิ่งใหญ่ในตลาดโลกอันดับที่ 1 แต่ปัจจุบัน เป็นที่ 3 ของโลก โดน อินเดีย และ เวียดนาม แซงไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนหนึ่งของข้าวไทยที่เกิดปัญหาจากการดำเนินนโยบายด้านข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาที่ผิดผลาด มีผลต่อกระบวนการผลิตอย่างมาก จากการที่ชาวนาปลูกข้าวโดยไม่สนใจถึงคุณภาพข้าว เร่งการเพาะปลูกเพื่อให้ได้แต่ปริมาณเท่านั้น ด้วยการใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมียาฆ่าแมลงยาฆ่าหญ้าที่ทำให้เกิดสารเคมีสารพิษตกค้างในข้าวและทำให้คุณภาพของข้าวลดลงรวมถึงทั้งรสชาติและกลิ่น และกลายเป็นการลดทอนคุณภาพข้าวไทยลงไปอย่างน่าเสียดาย

ดร.ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก กล่าวถึงสถานการณ์ ข้าวไทย พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการผลิตข้าวไทยและเกษตรกรไทยว่า “จากผู้นำข้าวคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก ถึงขนาดในประเทศจีนหากไม่พิมพ์ที่ถุงข้าวว่าข้าวไทยก็จะขายไม่ได้เนื่องจากต้องเป็นข้าวไทยเท่านั้นที่เป็นที่นิยมจึงขายได้ แต่ในปัจจุบันจากการดำเนินนโยบายด้านข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาทำให้ระบบและกระบวนการผลิตข้าวของไทยพังทั้งระบบ คือเป็นการเร่งให้เกิดการผลิตอย่างเดียว และเน้นไปที่จำนวนมากกว่าคุณภาพโดยไม่สนใจในวิธีการแต่อย่างใด จึงเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปริมาณผลผลิตโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของข้าวและตัวเกษตรกรผู้ผลิตข้าว ไม่มีแนวทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และยกระดับคุณภาพของข้าวไทย อย่างยั่งยืนเลย “นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก” กล่าว

ด้านนายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ตัวแทนเกษตรกรเปิดเผยถึงสถานการณ์ข้าวไทย และเกษตรไทยว่า “ภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเกษตรได้รวมกลุ่มกันผ่านภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการผลิตข้าวไทย ให้มีคุณภาพ และเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย โดย เมื่อปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ทำการส่งเสริมการปลูกข้าวพื้นนุ่ม (กข.79) ซึ่งจะเป็นการผลิตเพื่อสู้กับการเข้ามามีบทบาทของข้าวจากประเทศเวียดนาม และเป็นที่มาของ การสร้างกลุ่มขาณุโมเดล ที่จังหวัดกำแพงเพชร ขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่ายเกษตรกร สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ในโครงการข้าวรักษ์โลก (BCG) ที่เน้นทำนาอย่างประณีต เลิกใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมียาฆ่าแมลงยาฆ่าหญ้าและหันมาใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรที่ดีและมีมาตรฐาน ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก ให้ได้ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน จนเกิดเป็นนโยบายใหม่ของท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “ปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน” นายสานิตย์ กล่าว
จากแนวทางและนโยบายที่ชัดเจน โดยรัฐบาล ผ่านการรวมตัวกันของภาคีเครือข่ายเกษตรกร อาทิ สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย) และ สมาคมโรงสีข้าวไทย และได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐผ่านกรมการข้าว กระทรวงเกษตร กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)กลายเป็นแนวคิดการ “ปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน” ยกระดับข้าวไทยให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในตลาดโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน เพื่อสานเส้นทางพลิกฟื้นตำนานแห่งข้าวไทย ให้กลับมาเป็นความหวังในการสร้างเศรษฐกิจของไทย ดังที่เคยเป็นมาในอดีต
และสร้างเส้นทางแห่งอนาคตของข้าวไทย ให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน