“กปร.” นำสื่อมวลชน เยี่ยมชมฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หลายแห่งทั้งโครงการในพระราชดำริแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีบ้านบ่อหวี และโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
สำหรับที่โครงการในพระราชดำริแหลมผักเบี้ย ทีมงานสื่อมวลชนมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นคุณชาย พร้อมพบกับ “ดาบตำรวจมณู เผ่าจันทร์” ตำรวจทางหลวงจังหวัดเพชรบุรี ผู้ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นเป็นรายได้เสริม และเป็นรองประธานกลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเลเพชรบุรี ได้เปิดเผยกับทีมสื่อมวลชน ถึงขั้นตอนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน การเก็บผลผลิตและการคัดแยกสาหร่ายพวงองุ่นเพื่อจำหน่าย ซึ่งได้รับความรู้จากฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ และให้คำปรึกษาต่อขบวนการผลิต รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลเพื่อควบคุมคุณภาพ ราคา และการส่งออกในอนาคต โดยทางฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ได้ติดตามและให้คำปรึกษาในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นคุณชายได้ทำการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบครบวงจรด้วยการนำสัตว์น้ำ อาทิ ปู กุ้ง และปลากะพงขาวปล่อยเลี้ยงภายในบ่อเพาะเลี้ยงสาหร่าย ซึ่งปูจะกินแพลงก์ตอนบริเวณผิวดินภายในบ่อ กุ้งจะกินอาหารบริเวณช่อสาหร่าย ขณะที่ปลากะพงจะกินกุ้งเป็นอาหาร โดยสัตว์ทั้งสามชนิดนี้สามารถจับขายสร้างรายได้แก่ครอบครัว ขณะที่สาหร่ายพวงองุ่นก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี นับเป็นการทำการเกษตรแบบอนุรักษ์ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังได้นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เป็นวันที่สอง ณ ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านบ่อหวี ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมีผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความเป็นมาและผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมด้านการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของพื้นที่ ทั้งพืชผัก พืชยืนต้นประเภทไม้ผล
กิจกรรมด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเชิงธุรกิจและเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน กิจกรรมด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อการเพาะปลูกพืชที่ไม่ต้องอาศัยสารเคมีมาเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ และกิจกรรมส่งเสริมการขยายผลผลิตการแปรรูปผลผลิตและบรรจุภัณฑ์จากฟาร์มตัวอย่างฯ
นอกจากนี้ได้พบปะกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมนำผลผลิตมาจัดแสดงอีกด้วย ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านบ่อหวี ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณความห่วงใยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อราษฎรในการสร้างแหล่งผลิตอาหารและแหล่งจ้างงานให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีรายได้จากการรับจ้างทำงานภายในฟาร์มฯ ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้การประกอบอาชีพการเกษตรที่ถูกต้องเพื่อนำไปปรับใช้ภายใต้บริบทความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิ อากาศของตนเองต่อไป ปัจจุบันผลผลิตจากฟาร์มตัวอย่างฯ ส่งขายไปยังตลาดกลางในจังหวัดราชบุรี ตลาด อตก. กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ เชิงวิชาการการเกษตรสำหรับผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้อีกด้วย ช่วงบ่ายคณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมีผู้แทนอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปความเป็นมาและการดำเนินงานสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้นคณะฯ ได้ชมกิจกรรมฐานการเรียนรู้และกิจกรรมด้านต่างๆ อาทิ นิทรรศการประวัติความเป็นมาของโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ ชนิดสัตว์และพืชที่ค้นพบในพื้นที่ การทำเหมืองแร่ในอดีต ลานให้ความรู้เรื่องหินแร่ประเภทต่างๆ ชมการสาธิตร่อนแร่แบบภูมิปัญญาท้องถิ่น สวนสมุนไพรภายใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ในผืนป่าธรรมชาติและการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ประเภทไม้ 3 ชั้น คือ ไม้ใหญ่ยืนต้น ไม้ขนาดกลาง และไม้ผิวดิน นอกจากนี้ยังเยี่ยมชมการแปรรูปกล้วยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ชมผลิตภัณฑ์และผลผลิตของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูธรรมชาติแปรเปลี่ยนเหมืองแร่เก่าที่หน้าดินได้รับความเสียหายสู่ การฟื้นฟูและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูกได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ในปัจจุบัน โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2538 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ
และมีพระราชดำริกับคณะผู้ดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติ โดยกำหนดให้มีรูปแบบและวิธีการที่ชัดเจนโดยเริ่มดำเนินงานในพื้นที่ขนาดเล็กก่อน แล้วจึงขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ โดยทำการสำรวจทรัพยากรทางชีวภาพ และกายภาพในพื้นที่ให้ละเอียด และเก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน นำผลการสำรวจและข้อมูลที่รวบรวมได้มาทำการศึกษาและวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านวิชาการ รวมทั้งนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในท้องถิ่น การดำเนินงานทุกขั้นตอนจะให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้วย