ชัดแล้ว นายกฯ ประกาศยุบสภาต้น มี.ค. ยึดไทม์ไลน์เลือกตั้ง กกต. หย่อนบัตร 7 พ.ค. หลังกกต.เปิดแผนเลือกตั้ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตรงบริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี กับตึกไทยคู่ฟ้า ได้ขยับไมโครโฟนออกห่างจุดที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้ให้ พร้อมกับระบุว่า “ใกล้เกินไปแล้ว ลดรังสีหน่อย เพราะรังสีสื่อค่อนข้างแรง”
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผลการประชุม ครม.ว่า ในที่ประชุม ครม.นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง และการเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำอะไรได้ ทำไม่ได้บ้าง และตนได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ากำหนดการการยุบสภาจะมีภายในเดือน มี.ค.66 ส่วนกรอบเวลาเลือกตั้งเป็นไปตามที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศไว้ คือ 7 พ.ค.66 เพื่อให้เวลาภาคส่วนต่างๆ ได้ดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยมากที่สุด เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความเรียบร้อย และระหว่างนี้ขอให้รัฐมนตรี และ ส.ส.ช่วยกันพิจารณากฎหมายที่คั่งค้างอยู่หากเป็นไปได้ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญที่เสนอไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปฏิรูปต่างๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้จะระบุได้เลยหรือไม่ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 7 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องมีสิ ทำไมจะไม่มี เมื่อถามย้ำว่า หมายความว่าจะเกิดวันที่ 7 พ.ค.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นไปตามที่ กกต.กำหนดมาแล้ว วันนี้ต้องให้เวลา กกต.ทำกฎหมาย ทำกรอบกติกาให้เรียบร้อย เขาขอเวลามาถึงเดือน ก.พ.
เมื่อถามว่า แล้วนายกฯ จะยุบสภาช่วงไหน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมก็จะยุบของผม” ต่อข้อถามว่า จะยุบช่วงต้นเดือน มี.ค.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ประมาณนั้นแหละ บอกว่าเดือน มี.ค.ก็ มี.ค.สิ และให้เวลาสอดคล้องกับเดือน พ.ค.ให้ ส.ส.มีเวลาหายอกหายใจ ผมไม่ต้องการไปถ่วงอะไรใคร เพราะถึงอย่างไรก็ทำงานทุกวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะยุบสภาหรือไม่ยุบสภา ครม.ก็ต้องประชุมกันเหมือนเดิม และยังต้องรักษาการจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกติกาหลายอย่างที่ทำได้หรือไม่ได้ ได้ชี้แจงใน ครม.กันแล้ว”
เมื่อถามถึงกรณี กกต.ออกระเบียบเกี่ยวกับการยุบพรรคที่ระยะเวลาจะเร็วขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ว่าไป เมื่อถามย้ำว่า จากประกาศดังกล่าวทำให้พรรคการเมือง ต่างมองกันไปว่าพรรคไหนจะโดนเป็นพรรคแรก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนก็ไม่รู้ อย่าทำผิดกันทุกพรรค เรื่องนี้เป็นเรื่องของ กกต.อย่าไปมองอย่างนั้นอย่างนี้ กกต.หวังให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นเรื่องของ กกต.ตนเข้าไปยุ่งไม่ได้ และคิดว่าทุกคนไม่ควรจะไปยุ่งกับเขา ตามกติกาแล้วใครรับผิดชอบตรงไหนให้ทำตรงนั้น ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทุกพรรคเหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน กกต.เตรียมแผนการเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 2566 แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ โดยเบื้องต้น กกต.กำหนดให้วันที่ 7 พ.ค. 66 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และเปิดรับสมัครในวันที่ 3-7 เม.ย. 66 ส่วนรายละเอียดของแผนจัดการเลือกตั้งเบื้องต้นที่ กกต.กำหนดนั้น นับจากวันที่ 23 มี.ค. 66 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง
วันที่ 30 มี.ค. 66 จะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ วันที่ 31 มี.ค. 66 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และ ประกาศกำหนดวันรับสมัคร วันที่ 3-7 เม.ย. 66 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 11 เม.ย. 66 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง และ เป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง วันที่ 14 เม.ย. 66 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. วันที่ 16 เม.ย. 66 เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง วันที่ 26 เม.ย. 66 เป็นวันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ วันที่ 30 เม.ย. 66 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนวันที่ 1-6 พ.ค. 66 เป็นระยะเวลาแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยวันที่ 1 พ.ค. 66 ยังจะเป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง วันที่ 3 พ.ค. 66 เป็นวันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัครกรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร วันที่ 6 พ.ค. 66 เป็นวันสุดท้ายที่ ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และวันที่ 7 พ.ค. 66 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 8-14 พ.ค. 66 เป็นวันแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
นอกจากนี้ กกต.กำหนดแผนการเลือกตั้งกรณีเกิดการยุบสภา ซึ่ง กกต.จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 แต่ไม่เกิน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103 กำหนด ซึ่งภายใน 5 วันนับแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กกต.จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และวันสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ ยังกำหนดห้วงวันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ว่า จะเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
การประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัครวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และ สรรหา แต่งตั้ง คกก.ประจำหน่วยเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และ วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน, แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง วันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ภายใน 7 วัน นับแต่วันประกาศรายชื่อ วันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัคร กรณีผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 วัน วันสุดท้าย ผอ.ประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องศาลฎีกากรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ก่อนวันเลือกตั้ง วันที่คาดว่าเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา, แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต.ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ขณะนี้ใกล้ถึงระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ในววันที่ 23 มี.ค. 66 ซึ่งผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงให้เป็นไปตาม มาตรา 68 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และต้องมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 73 กฎหมายเดียวกัน มีห้วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2565 จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
และเตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองปฏิบัติ ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในกรอบเวลา 180 วัน ว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้บ้างในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้ปฏิบัติตาม