ไวรัส“มาร์บวร์ก”มฤตยูพันธุ์ใหม่ระบาด ค้างคาวเป็นพาหะ WHO เตือนทุกประเทศระวัง! ยังไม่มีวัคซีน

CR:guardian.ng

ไวรัสโควิดเริ่มบรรเทา ไวรัส“มาร์บวร์ก”ก็ตามมาติดๆ ระบาดแล้วในทวีปแอฟฟริกา ค้างคาว –ลิง สัตว์พาหะ แถมยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้าน

Advertisement

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มทุเลาเบาบางลง ล่าสุดเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดใหม่ที่ชื่อ “มาร์บวร์ก”  (Marburg Virus ) ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศ (WHO) แจ้งเตือนทั่วโลกโดยเกิดการระบาดขึ้นในประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) แถบชายฝั่งตะวันตกของแอฟฟริกากลาง จากการรายงานพบว่ามีผู้เสียชีวิต 9 ราย และผู้ต้องสงสัย 16 ราย

สาเหตุมาจากผู้เสียชีวิตทั้ง 9 รายได้เข้าร่วมงานศพ โดยจัดพิธีศพตามประเพณีในแอฟริกาตะวันตก มีการจูบและสัมผัสศพ โดย ณ เวลานั้นไม่มีใครทราบถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของผู้ตาย จากนั้นไม่กี่วันผู้เสียชีวิตทั้ง 9 ราย เริ่มมีอาการติดเชื้อและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

CR:guardian.ng

สำหรับ“ไวรัสมาร์บวร์ก” เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกรุนแรงในมนุษย์และลิงหลายประเภท สามารถติดต่อและแพร่ระบาดได้ง่าย เป็นไวรัสที่อยู่ในตระกูล ฟิโลวิริแด (Filoviridae) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับ ไวรัสอีโบลา โดยอัตราการเสียชีวิตของโรคมาร์กบวร์กในการระบาดครั้งก่อนในประเทศกานาสูงถึงร้อยละ 88 ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก

ไวรัสมาร์บวร์กเกิดการระบาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2010  ในห้องทดลองในเมืองมาร์บวร์กและเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และในกรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือประเทศเซอร์เบีย) จากรายงานผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นพบว่า ผู้เสียชีวิตได้สัมผัสกับลิงเขียวแอฟริกา (African green monkey) ที่นำเข้าจากประเทศอูกันดา หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2548 ในประเทศแองโกลา พบผู้ติดเชื้อ 374 ราย และเสียชีวิตมากถึง 329 ราย กรณีไวรัสมาร์บวร์กนั้น ค้างคาวเป็นรังโรค (reservoir) โดยการแพร่เชื้อติดต่อมาสู่ลิง สัตว์เลือดอุ่น เช่นหมู และคนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง

สำหรับอาการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กจะแสดงออกโดยฉับพลัน ระยะฟักตัวของไวรัสอยู่ที่ 2 – 12 วัน โดยเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง มีอาการหนาวสั่น เจ็บกล้ามเนื้อ เป็นตระคริว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาจพบผื่นบริเวณหน้าอก หลัง หรือท้อง มีเลือดออก เสียเลือดและตกเลือดภายใน อาจรุนแรงจนส่งผลให้อวัยวะหลายส่วนทำงานล้มเหลว

องค์การอนามัยโลกบรรยายลักษณะการติดเชื้อที่รุนแรงหลังวันที่ 5 ของผู้ป่วยติดเชื้อ จะมีลักษณะคล้ายผี (Ghost-like) ดวงตากลวงลึก (เนื่องจากเสียน้ำ) ใบหน้าซีด (เนื่องจากเสียเลือด) ไร้ความรู้สึก มีอาการหมดเรี่ยวแรงและง่วงนอนตลอดเวลา

CR:www.un.org

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กโดยเฉพาะ ใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้น้ำกลับคืนด้วยสารน้ำทางปากหรือทางหลอดเลือดดำ การรักษาระดับออกซิเจน การใช้ยาบำบัดตามอาการ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ หากผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีอุปกรณ์ในการรักษา อาจเสียชีวิตระหว่างวันที่ 8 หรือวันที่ 9 หลังจากเริ่มมีอาการ เนื่องจากการเสียเลือดและตกเลือดอย่างรุนแรง ร่วมกับการทำงานที่ล้มเหลวของอวัยวะหลายส่วน

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ว่า โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กที่มีการระบาดในประเทศอิเควทอเรียลกินี แถบแอฟริกาตอนกลางนั้น ล่าสุด สถานการณ์เริ่มอยู่ในระดับการควบคุมได้ เนื่องจากมีทีมขององค์การอนามัยโลกส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมสอบสวนและควบคุมโรค ให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งเราตรวจสอบข่าวล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 9 ราย และผู้ป่วยสัมผัส 25 ราย ส่วน 2 รายที่เป็นผู้ป่วยสงสัยที่ชายแดนแคเมอรูนซึ่งติดกับอิเควทอเรียลกินี ได้รับแจ้งว่าผลตรวจเป็นลบ ไม่เป็นไวรัสมาร์บวร์ก ทั้งนี้ จากการดูเรื่องของการเดินทาง ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้มีประชากรมากนักประมาณล้านกว่าคน และไม่ได้มีการเดินทางหนาแน่นมาก การแพร่ระบาดออกนอกพื้นที่ที่พบผู้ป่วยครั้งแรกคงมีโอกาสน้อย และยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยรายในประเทศเพื่อนบ้าน

น.พ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

ส่วนคนที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีคนเดินทางมาประเทศไทยโดยมีต้นทางที่มาจากอิเควทอเรียลกินีประมาณ 4-5 รายต่อเดือน ซึ่งไม่ได้มาจากเมืองที่มีโรคระบาด คิดว่าสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงกับประเทศไทยยังต่ำ แต่เราจับตาดูใกล้ชิดเพราะประเทศนี้อยู่ในประเทศที่เราประกาศเขตติดโรคไข้เหลือง มี 12 ประเทศ ใครที่มาจากประเทศนี้ต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคไข้เหลือง ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ทำให้มีการติดตามคนเดินทางมาจนแน่ใจว่าไม่มีอาการป่วย ซึ่งไวรัสมาร์บวร์กติดต่อทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น อุจจาระ จึงไม่ได้ติดกันง่ายนัก หากไม่ได้อยู่ใกล้คนป่วย หรืออีกกรณีติดจากสัตว์ป่าโดยตรง หากไม่ได้มีอาชีพทำงานกับสัตว์ป่าก็คงโอกาสน้อย

“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงไม่มีข่าวอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสมาร์บวร์ก ก็คลายกังวลได้ แต่ก็ไม่ประมาท ยังคงเฝ้าระวังคนเดินทางมาจากประเทศนี้และประเทศใกล้เคียง กรมควบคุมโรคมีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอื่นๆ จะคอยเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางที่มาจาประเทศติดโรคไข้เหลือง ก็จะติดตามได้ หากมีอาการจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ซึ่งเรามีห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ตรวจหาเชื้อได้

ที่มาข้อมูล : Center for Medical Genomics

เครดิตภาพ : guardian.ng และ www.un.org