ผู้ว่าฯปราจีนบุรี ยอมรับซีเซียม-137 ถูกหลอมเเล้ว พบฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี สั่งปิดพื้นที่ทันที เตรียมตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง วอนอย่าอย่าตื่นตระหนกไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี
ความคืบหน้าการตรวจพบ พบวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ที่หายไปโรงไฟฟ้าในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยพบอยู่ที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรีนั้น ที่ห้องศูนย์กาเรียนรู้ (402) ศูนย์ราชการใหม่ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจ.ปราจีนบุรี, พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี, นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์เลขาธิการ สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ,นางเพ็ญนภา กัญชนะรองเลขาธิการสนง.ปรมาณูเพื่อสันติ,นายกิตติกวิน อรามบุญ หน.ปฏิบัติการฉุกเฉินทางริวเคลียร์และรังสี ร่วมแถลงข่าวสรุปรายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 (Cesium – 137, Cs -137) สูญหาย
นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ได้ตรวจสอบภายในโรงงานและขยายวงออกไปนอกโรงงานรัศมี 2 กม. ทั้งยังค้นหาตามพื้นที่เป้าหมาย ร้านขายของเก่าและร้านคู่ค้าของโรงงาน ในพื้นที่พนมสารคามและจังหวัดใกล้เคียง ใช้เวลาค้นหา 7 วัน โดยเมื่อเมื่อเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ไปตรวจสอบโรงงานหลอมเหล็กขนาดใหญ่ โดยผู้เชี่ยวชาญของ ปส. ได้ทำการควบคุมและตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่าโลหะที่ได้จาก กระบวนการผลิตไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่บริเวณโรงงานพบว่า ระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตาม ปริมาณรังสีในธรรมชาติ
นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบโรงงานพบว่า ระดับรังสีอยู่ ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิล ที่รับ ซื้อเศษโลหะมือสองที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุ กัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอม ซีเซียม-137 จะถูกหลอมและระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ ในเตาหลอม ซึ่งจะมีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิตและเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ทำให้ ซีเซียม-137 จะปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการหลอม ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้จะมีระบบกรองเพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บ ควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นฝุ่นโลหะ ปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด
จากนั้นปส. ได้ดำเนินการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงานใกล้เคียง สามารถสรุปได้ว่าฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และ ถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสาร กัมมันตรังสีซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว เบื้องต้นพนักงานในโรงงาน 70 กว่าคน ได้ให้พนักงานหยุดงานไปก่อน และให้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แพทย์ พยาบาล เช็คประวัติและดูอาการ โดยเตรียมตรวจเลือดในวันนี้
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า โรงงานหลอมโลหะหรือหล่อเหล็ก ต้องมีการใช้อุณหภูมิถึง 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อให้เหล็กหลอมละลายเป็นของเหลว และทำเป็นระบบปิดทั้งหมด สารซีเซียม เมื่อเจออุณหภูมิเพียง 600 องศาเซลเซียส จะหายไปกลายเป็นฝุ่น
ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยและคณะกรรมการด้านสุขภาพของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คเกี่ยวกับการรั่วไหล และ ผลที่จะตามมาในเรื่องของ ซีเซียม -137 โดยระบุว่า ” ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุCs137ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ
1.ฝุ่นขนาดเล็กของCs137ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่องจะกระจายสู่บรรยากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบๆโรงงานและเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหารได้แก่ ผัก ผลไม้ อา หารจากแหล่งน้ำใกล้เคียงและอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้นรวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย…
สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะและบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ,ตับ,ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมคือเป็นมะเร็งนั่นเอง
2.หากโรงงานหลอมเหล็กมีอุปกรณ์ควบคุมมล พิษทางอากาศ เช่น Baghouse Filter โดยจะทำการกรองฝุ่นเหล็กขนาดเล็กที่ปนเปื้อนสาร Cs137หรือที่เรียกว่าฝุ่นแดงไว้ในถุงกรองในปริมาณมากซึ่งโรงงานหลอมเหล็กจะขายฝุ่นแดงดังกล่าวให้กับโรงงานประเภท106 นำไป Recycleเพื่อสกัดเอาธาตุสังกะสีไปใช้ ซึ่งจะทำให้สารCs137แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นและเกิดอันตรายต่อประชาชนและระบบนิเวศ
3.เมื่อเข้าเตาหลอมแล้วส่วนหนึ่งจะกลายเป็นขี้เถ้าหนัก(Bottom ash)โดยจะมีอนุภาคของ สารCs137ปนเปื้อนในเถ้าหนักด้วย หากโรง งานนำไปฝังกลบใต้ดินก็อาจปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำต่อไป
4.เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย(PPE)เพื่อป้องกันการได้รับรังสีและทำการตรวจการปนเปื้อนของสารCs137 ภายในโรงงานทุกบริเวณ เช่น เถ้าหนัก ฝุ่นแดง กองเหล็ก เตาหลอม ดินและแหล่งน้ำและฝุ่นละอองในโรงงาน เป็นต้น รวมทั้งต้องตรวจหารังสีปนเปื้อนที่ตัวพนักงานทุกคนด้วย”
นอกจากนี้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านรังสี รวมถึง ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนถึงอันตรายที่จะเกิดจากฝุ่นแดงและผลกระทบจากการเผา และนักวิชาการหลายคนเชื่อว่าจะเกิดการปนเปื้อนทางมลพิษในพื้นที่ภาคตะวันออกรวมถึงภาคกลางบางส่วน รวมถึงการปนเปื้อนในดิน น้ำ และอาหาร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกมากนัก เพราะต้องรอการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
