กลุ่มบริหารการใช้น้ำ ท่าชะมวง-กำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา “ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ แต่ไม่มีความสามัคคี ความยั่งยืนในเรื่องน้ำก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน”

เรื่องเล่าคนใช้น้ำฉบับนี้ ได้มีโอกาสเดินทางไปพบปะพี่น้องเกษตรกร กลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวง-กำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา กลุ่มที่ไม่มีแม้แต่อ่างเก็บน้ำสำหรับเก็บกักน้ำต้นทุน แปลกแต่จริงเหตุใดสมาชิกกลุ่มจึงมีแต่รอยยิ้มและประกอบอาชีพทำการเกษตรด้วยความสุข ไปร่วมศึกษาเคล็ด (ไม่) ลับ ในเรื่องนี้กัน

Advertisement

นายประจวบ จันทรภาโส ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวง-กำแพงเพชร เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2562 เกิดจากสาเหตุการแย่งชิงน้ำ เกษตรกรขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เมื่อถึงฤดูแล้งก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เป็นประจำ อีกทั้งในพื้นที่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ มีเพียงการอาศัยน้ำจากฝายชะมวง ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิจังหวัดสงขลาเท่านั้น

นายประจวบ เล่าอีกว่า “เรามีเหตุการณ์แย่งชิงน้ำบ่อยครั้ง แต่เป็นโชคดีที่เราได้เจ้าหน้าที่จากฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานสงขลา สำนักงานชลประทานที่ 16 เข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำให้เรารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม ซึ่งในช่วงแรกก็ยังไม่เข้มแข็งมากนัก ต้องอาศัยการนัดประชุมทำความเข้าใจบ่อยครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก

นายประจวบ จันทรภาโส ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวง-กำแพงเพชร

พ.ศ. 2565 หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 3 ปี ผ่านช่วงเวลาของการละลายพฤติกรรมความขัดแย้ง เพื่อสร้างความสามัคคี บ่มเพาะองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเข้มข้น จน ณ ขณะนี้ กลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวงกำแพงเพชร ถือเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมาก เกษตรกรต่างมีความรู้การบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ และถึงขั้น เป็นตัวแทนสำนักงานชลประทานที่ 16 เข้าประกวดสถาบัน เกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำ พ.ศ. 2566

ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวง-กำแพงเพชร เล่าถึงความสำเร็จของการจัดตั้งกลุ่มให้ฟังอีกว่า “วันนี้เราสามัคคีกันอย่างมาก มีสมาชิกถึง 1,310 คน มีพื้นที่การเกษตรถึง 8,500 ไร่ และเราก็มีวิธีการบริหารจัดการน้ำเฉพาะกลุ่ม เป็นวิธีการง่าย ๆ แต่ได้ประสิทธิภาพ คือ การบริหารจัดการน้ำจากฝายชะมวง ปล่อยให้สมาชิกที่อยู่ปลายน้ำได้รับน้ำก่อน 15 วัน หลังจากนั้นเปลี่ยนมาเป็นสมาชิกช่วงกลางน้ำ และต้นน้ำตามลำดับ โดยมีอาสาสมัครชลประทานเป็นกำลังสำคัญ คอยช่วยดูแลตรวจสอบการรับน้ำของแต่ละครอบครัว”

ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวง-กำแพงเพชร ยังได้รณรงค์ให้สมาชิกปลูกข้าวพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และเปลี่ยนมาใช้วิธีการทำนาแบบ “นาโยน” หรือ การปลูกข้าวแบบโยนกล้า ลดปริมาณการใช้น้ำ แต่กลับได้ผลผลิตที่ดีไม่ต่างจากการทำนาแบบหว่าน

นายอาคม คงทอง หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานสงขลา อธิบายว่า การประกวดสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำ พ.ศ. 2566 ได้รับรางวัลชมเชย ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้เข้าร่วมและทำให้กลุ่มได้เห็นถึงข้อบกพร่องที่คณะกรรมการให้คำแนะนำมา นำไปปรับปรุง เพื่อสร้างกลุ่มให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และสร้างรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

  นายอาคม คงทอง หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานสงขลา

นายประจวบ ขอเป็นตัวแทนกลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวง-กำแพงเพชร กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อกรมชลประทานว่า“กรมชลประทานให้ทั้งความรู้ คำปรึกษาแนะนำเรื่องการใช้น้ำ เพื่อให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ขอขอบคุณเป็นอย่างมากครับ”

กลุ่มบริหารการใช้น้ำท่าชะมวง-กำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ นับเป็นกลุ่มเกษตรกรที่จะเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับกลุ่มบริหารการใช้น้ำอีกมากมายที่จะก่อตั้งขึ้นในอนาคต เป็นกรณีตัวอย่างของการใช้ความสามัคคี ความจริงใจให้แก่กันในการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็ง ลดปัญหาและอุปสรรคเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความขัดแย้งเรื่องน้ำ และการสร้างความยั่งยืนในเรื่องน้ำต่อไปในอนาคต