จัดเต็ม!รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเชื่อมภูมิภาค“นายกฯ”ย้ำ“ทำเพื่ออนาคต”

ปักหมุด รถไฟไทย-จีน เน้นการเชื่อมโยงภูมิภาค นายกฯ ย้ำ ลงทุนสูงแต่ทำเพื่ออนาคต สร้างธุรกิจ สร้างรายได้ ส่วนจะพาดผ่านที่ไหนกันบ้างลองไปตรวจสอบดูเลย

Advertisement

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พร้อมๆ ไปกับ แนวการสร้างเส้นทางคมนาคมระบบรางเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคที่จะมีเส้นทางจะพาดผ่านที่ไหนบ้าง ลองไปตรวจสอบกันเลย

เส้นทางกทม.-หนองคาย (ระยะที่ 1 กทม.-นครราชสีมา)ซึ่งการก่อสร้างของระยะที่ 1 นี้ ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ช่วงที่ 1 กลางดง (จ.นครราชสีมา) – ปางอโศก (จ.นครราชสีมา) ระยะทาง 3.5 กม. เริ่มต้นแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้นจะเร่งรัดการก่อสร้าง อีก 3 ช่วงที่เหลือของระยะที่ 1 ได้แก่ช่วงที่ 2 สีคิ้ว (จ.นครราชสีมา) – กุดจิก (จ.นครราชสีมา) ระยะทาง 11 กม. คาดว่าจะเริ่มสร้างประมาณ ส.ค. 2561 ใช้เวลาก่อสร้าง 12 เดือนช่วงที่ 3 แก่งคอย (จ.สระบุรี) – นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. เริ่มประมาณ พ.ย. 2561 ใช้เวลาประมาณ 30 เดือนช่วงที่ 4 บางซื่อ (กทม.) – แก่งคอย (จ.สระบุรี) ระยะทาง 119 กม. เริ่มประมาณ ม.ค. 2562 ใช้เวลาประมาณ 30 เดือนพร้อมทั้งจะเร่งรัดการดำเนินการในระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคายต่อไป

โดยในช่วงแรกของโครงการ เป็นช่วงของโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ – นครราชสีมา จะมีระยะทาง 252.3 กิโลเมตร และวงเงินลงทุนประมาณ 179,000 ล้านบาท มีสถานีทั้งหมด 6 แห่ง คือ สถานีกลาง สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา และมีความเร็วอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเส้นทางช่วงแรกที่เริ่มก่อสร้าง คือช่วงกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 430 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565  โดยมีค่าโดยสารแรกเข้า 80 บาท และบวกด้วย อัตรา 1.8 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งราคาสูงสุดจากเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา จะอยู่ที่ 535 บาท

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น” เมื่อแล้วเสร็จทั้งหมด เส้นทางรถไฟนี้จะเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน จีน ยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยและประเทศเพื่อนบ้านประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าว (โดยสรุป) เกี่ยวกับความก้าวหน้าในด้านการวางรากฐานขนส่งระบบรางเชื่อมโยงภูมิภาคที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในครั้งนี้ว่า “รัฐบาลนี้สนับสนุนการเชื่อมโยงทุกภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ในทุกมิติ การเชื่อมโยงระบบทางรถไฟไปยังลาว พร้อมเป็นศูนย์กลางการขนส่ง โดยจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ในอีก 20 จังหวัดของประเทศที่ยังมีรายได้น้อยซึ่งต้องทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ดี การลงทุนแม้จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

แต่อย่าคิดถึงรายได้เฉพาะผู้ที่มาใช้บริการหรือที่เรียกว่าผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีผลประโยชน์อย่างอื่นที่ตามมาจำนวนมาก โดยเฉพาะจะเกิดธุรกิจตลอดเส้นทางเป็นการเพิ่มและกระจายรายได้ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเร่งรัดทุกๆอย่าง และจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย และกติกาบางอย่าง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ขออย่ามองเป็นเรื่องอื่น ทุกอย่างที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ

ทุกอย่างต้องมีเริ่มต้นไม่ได้เสร็จในวันเดียว ทุกหน่วยงานจึงต้องช่วยกัน ให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และการลงทุนไม่ได้ดูแค่คนขึ้นรถไฟ แต่ผลประโยชน์โดยอ้อมเกิดตลาดแหล่งการค้าระหว่างทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เสริมกับการเดินทางทางอากาศ สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกวันนี้คือ กายภาพการเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ที่มาข่าว และภาพ เพจไทยคู่ฟ้า https://www.facebook.com/ThaigovSpokesman/ และ https://s3-ap-southeast-1.amazonaws.com