นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติ ให้ธนาคาออมสิน ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ วงเงิน 10,000 ล้านบาท รองรับการปล่อยกู้ให้กับรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน กำหนดปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาทต่อราย คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 บาทต่อเดือน ระยะเวลาเงินกู้ 5 ปี โดยใช้บุคคลค้ำประกัน แต่จะไม่นำข้อมูลเครดิตบลูโรมาพิจารณาสินเชื่อ กำหนดยื่นกู้ได้ถึง 31 มีนาคม 2563 หลังจากช่วงต้นปี 1 มกราคม 61 ครม.อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการเฟส 2 ไปแล้ว วงเงิน 10,000 ล้านบาท จึงทำให้วงเงินสำหรับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบผ่าน ธ.ก.ส.และออมสิน วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดหนี้ NPL จากโครงการดังกล่าวร้อยละ 0.41 ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีปัญหนี้นอกระบบประมาณ 6 แสนราย

นายณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. ปรับเพดานบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 61 หลังจากได้จัดสรรงบกลางปีเพิ่มเติม 1.5 แสนล้านบาท จึงได้ปรับเพิ่มยอดเงินกู้ 85,900 ล้านบาท ทำให้มีภาระเงินกู้ในปี 61 ยอดเงินเพิ่มเป็น 1.588 ล้านล้านบาท จากเดิมยอดหนี้ 1.502 ล้านล้านบาท การกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวทำให้ภาระหนี้สาธาณะของประเทศมีสัดส่วนเพิ่มจากร้อยละ 42.7 ของจีดีพี เพิ่มเป็นร้อยละ 42.8 โดยยังไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังร้อยละ 60 สำหรับร่างพระราชกำหนดทรัพย์สินดิจิตอล อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะยังมีหลายหน่วยงานแสดงความเห็นเพิ่มในการออกกฎหมายดังกล่าว โดยจะขอเปิดเผยรายละเอียดเมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษา วันนี้ ครม.จึงไม่ได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว